คิกออฟ “สนามบินมุกดาหาร” สนามบินลำดับที่ 30 ของไทย

กรมท่าอากาศยานเซ็นสัญญาจ้างออกแบบ-ทำอีไอเอ 42 ล้าน ปักหมุดสร้างที่ตำบลคำป่าหลาย ปี 2568 คาดว่าเปิดให้บริการได้ปี 2571

รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แจ้งว่า ขณะนี้ ทย. ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด, บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ไซน์-เทค เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ซูส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์จำกัด วงเงิน 42.65 ล้านบาท เพื่อออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ รวมทั้งศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร ใช้เวลาออกแบบประมาณ 9 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.65 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

สำหรับโครงการท่าอากาศยานมุกดาหาร มีวงเงินก่อสร้างประมาณ 5 พันล้านบาท เบื้องต้นที่ตั้งที่เหมาะสมอยู่บริเวณ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร พื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ อยู่ห่างจาก อ.เมืองมุกดาหาร ประมาณ 20 กิโลเมตร(กม.) มีท่าอากาศยานใกล้เคียง 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานนครพนม และท่าอากาศยานสกลนคร มีระยะห่างจากแต่ละสนามบินประมาณ 120 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหารในปี 68 และเปิดบริการได้ประมาณปี 71 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ล่าสุดลำดับที่ 30 ของ ทย. ต่อจากท่าอากาศยานเบตง ลำดับที่ 29 โดยน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทาง และการขนส่งสินค้าได้อย่างดี

แม้ จ.มุกดาหาร จะมีประชากรไม่มาก แต่จะมีผู้โดยสารจากพื้นที่อื่นมาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะจากเมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาว ซึ่งมีประชากรเป็นล้านคน เหมือนประชาชนจากเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว ที่มาขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอุดรธานี

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สาเหตุที่เลือกก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหารเริ่มต้นจากมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก อีกทั้งจังหวัดมุกดาหาร เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมีศักยภาพและโอกาสทางการค้าและลงทุนสูง สามารถเชื่อมต่อเมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาวได้
ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร ยังระบุด้วยว่า การก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหารมีความคุ้มค่า และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ จ.มุกดาหาร ประหยัดเวลาเดินทาง จากเดิมหากจะเดินทางทางอากาศต้องไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ใช้เวลาเดินทางไปขึ้นเครื่อง 2-3 ชั่วโมง หรือหากไปใช้บริการท่าอากาศยานสกลนคร หรือท่าอากาศยานนครพนม ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ชม.

เนื้อหาจาก ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์

Views: 12222

Start typing and press Enter to search